วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

อิงลิช บูลล์ด็อก (English Bulldogs)

อิงลิช บูลล์ด็อก (English Bulldogs)
เตี้ย ล่ำ หน้าหัก ซื่อสัตย์ นิสัยดี

ลักษณะทั่วไป
     อิงลิช บูลล์ด็อกมีรูปร่างใหญ่ปานกลาง มีลักษณะเตี้ย ล่ำ ศีรษะใหญ่ หน้าหัก หนังย่นโดยเฉพาะบริเวณใต้คอ ปากบนย้อยลงมา กรามล่างเกยกรามบน ตาห่าง ขนสั้น เรียบแบน เนียนตลอดตัว ขนมีทั้งสีแดง สีน้ำตาลเหลือง สีขาว สีลายต่างๆ หรือลายสลับสี


ความเป็นมา
     อิงลิช บูลล์ด็อกมีต้นกำเนิดมาจากสายพันธุ์เอเซียติก มาสทิฟฟ์ (Asiatic Mastiff) ซึ่งมีความดุดัน ก้าวร้าว ไว้ต่อสู้ หลอกล่อกับวัวกระทิง และเลี้ยงไว้เพื่อการต้อนสัตว์ อิงลิชบูลด็อกเกิดขึ้นและเริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1209 ในฐานะนักสู้ อย่างไรก็ตาม ในปี  1835 กีฬาการต่อสู้ได้ถูกสั่งห้ามด้วยกฎหมาย และเจ้าของอิงลิช บูลล์ด็อกพยายามที่จะนำเอาน้องหมาพันธุ์นี้ไปขึ้นสังเวียนต่อสู้ของสุนัข โชคดีที่อิงลิช บูลล์ด็อกทำผลงานได้ไม่ค่อยดี อย่างไรก็ตามยังมีผู้ที่รัก และชื่นชอบสุนัขสายพันธุ์นี้ยังคงทำการคัดเลือก รักษาสายพันธุ์ เพื่อให้ได้ลักษณะและขนาดตามที่ต้องการ รวมทั้งปรับเปลี่ยนความก้าวร้าวที่อิงลิช บูลด็อกมีให้กลายเป็นน้องหมาที่เป็นมิตรกับมนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม
ลักษณะนิสัย

     อิงลิช บูลล์ด็อกเป็นน้องหมาที่มีความซื่อสัตย์มากๆ แทบจะเรียกได้ว่าชีวิตนี้อุทิศให้แก่ความซื่อสัตย์ สุขุม ใจเย็น สุภาพอ่อนโยน นิสัยดี เฝ้าบ้าน ปกป้องดูแลทรัพย์สินได้ดี ฉลาด แต่อาจจะเชื่องช้าต่อการตอบรับคำสั่ง พวกเขาเป็นมิตรทั้งกับคนและสัตว์ รักเด็ก และคนในครอบครัว พวกเขารู้จักเอาใจเจ้าของ เรียนรู้ได้รวดเร็วเพื่อให้เจ้าของพึงพอใจ อิงลิช บูลล์ด็อกเป็นสุนัขที่ได้รับการผสมพันธุ์เพื่อไว้เป็นเพื่อนกับมนุษย์โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมีความผูกพันกับครอบครัวมากเป็นพิเศษ พวกเขาไม่ชอบถูกทิ้งให้อยู่บ้านตัวเดียว และต้องการการใส่ใจจากเจ้าของมากๆ พวกเขาเป็นนักเดินทางตัวยง รักการนั่งรถเล่น เดินทางไปไหนมาไหนกับเจ้าของ

  การดูแล
     อิงลิช บูลล์ด็อกขนสั้น เกรียน จึงง่ายต่อการทำความสะอาด พวกเขาต้องการการดูแลขน แปรงขนเพียง 2 -3 ครั้งต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตามควรดูแลบริเวณรอยย่นพับตามผิวหนังบนใบหน้า คอ และหาง โดยเฉพาะหลังอาบน้ำเพื่อไม่ให้เกิดความชื้น เศษขน ติดค้างจนก่อให้เกิดเชื้อราการติดเชื้อ หรืออาการระคายเคืองได้ส่วนการอาบน้ำควรอาบเฉพาะเมื่อยามจำเป็นเท่านั้น เช่น มีกลิ่นเหม็น สกปรก ไปเล่นเลอะเทอะ ไม่ควรอาบบ่อยๆ เนื่องจากจะทำให้ผิวแห้ง ตัด และแพ้ง่าย ดังนั้นถ้าสุนัขไม่เปื้อนมากให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้หมาดๆ เช็ดตัวแทน นอกจากนี้ควรแปรงฟันให้พวกเขาเป็นประจำ



     การออกกำลังกาย อิงลิช บูลล์ด็อกเป็นสุนัขที่ตื่นตัวมากๆ เวลาได้พาเขาไปออกกำลังกายและเนื่องจากอิงลิช บูลล์ด็อกมีแนวโน้มอ้วนได้ง่ายจึงควรพาไปเดินเล่น หรือออกกำลังกายเป็นประจำ พวกเขาชอบเดินเล่นหรือทำกิจกรรมกับครอบครัวมากๆ เพราะจะทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วม และรู้สึกผูกพัน อย่างไรก็ตามควรพาเขาเล่น หรือไปออกกำลังกายเพียงระยะเวลาสั้นๆ ช่วงเช้าตรู่ หรือเวลาเย็น ที่อาการไม่ร้อนจัด ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดอาการ ฮีตสโตรก (Heat Stroke) ได้ ผู้เลี้ยงควรเตรียมน้ำให้พวกเขาดื่มไว้ให้เรียบร้อย เมื่อต้องพาพวกเขาออกไปนอกบ้าน

   ผู้เลี้ยงที่เหมาะสม
     ผู้เลี้ยงอิงลิช บูลล์ด็อกควรมีเวลาให้กับพวกเขามากๆ ทั้งให้ความรัก พาออกสังคม และพาไปออกกำลังกาย สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่แคบ ควรฝึกให้พวกเขาหัดอยู่คนเดียว เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้พวกเขาเกิดอาการซึมเศร้าได้

  ข้อควรจำ
     อิงลิช บูลล์ด็อกมีเรื่องโรคประจำสายพันธุ์ที่ต้องระมัดระวังมากพอสมควร ทั้งโรคสะโพกเสื่อม ข้อศอกเสื่อม โรครูจมูกตีบแคบ โรคต้อกระจก โรคCherry eye ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับที่ต่อมน้ำตาที่อยู่บริเวณหนังตาที่สามารถโผล่ออกมา นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก ผิวหนังแพ้หรืออักเสบได้ง่าย

  มาตรฐานสายพันธุ์
ขนาด  เพศผู้กับเพศเมียมีส่วนสูงเท่ากันประมาณ 31-40 เซนติเมตร ส่วนน้ำหนักเพศผู้มีน้ำหนักประมาณ 24-25 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียหนัก 22-23 กิโลกรัม
ศรีษะ  ศีรษะใหญ่ หน้าสั้น มีจุดหักบนใบหน้าเพียงเล็กน้อย กรามหน้ามีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยม กรามล่างเกยกรามบนยื่นไปทางด้านหน้าเล็กน้อย 
ฟัน      ฟันล่างยื่นออกมาเกยฟันบน
ปาก    ปากหนา มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ริมฝีปากบนห้อยลงมาปกริมฝีปากล่าง
ตา       ตากลม ลึก สีเข้ม ขนาดปานกลาง ตาทั้ง 2 ข้างอยู่ห่างกัน
หู         หูเล็กบาง ตั้งอยู่ด้านบนของศีรษะ ฐานหูตั้งขึ้นแต่ปลายหูพับลง
จมูก    จมูกดำ กว้าง รูจมูกใหญ่
คอ       ช่วงคอสั้น หนา และแข็งแรง
อก       อกลึกหนา เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ  ซี่โครงอกขยายกว้าง
ลำตัว  ลำตัวสั้น ผิวหนังย่น ช่วงไหล่กว้าง เลียงไปทางด้านหลัง ซี่โครงขยาย เนื้อหน้าอกกลมแน่น ดูหนาเทอะทะ ท้ายลำตัวโค้งรับต้นขาหลังกำลังดี
เอว      -
ขาหน้า     กระดูกขาหนา สั้นแข็งแรง ขนานกันทั้ง 2 ข้างเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อ
ขาหลัง    ขาหลังสั้น ต้นขาใหญ่ ส่วนโค้งหน้าขาไปถึงท่อนขามีเล็กน้อย ขาเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อแข็งแรง
หาง     หางยาวปานกลาง ทิ้งตกลงพื้น ไม่ม้วนขึ้น 
ขน      ขนสั้น เส้นเล็ก นุ่ม เนียน หนา
สีขน   มีขนสีลายต่างๆ ลายสีแดง หรือลายสีอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีขนสีขาว สีน้ำตาลเหลือง สีเหลืองซีด สีเนื้อ หรือสีผสมกัน เช่นสีขาวกับสีน้ำตาล เป็นต้น ส่วนสีดำ หรือสีเทาไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสายพันธุ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น