อลาสกัน มาลามิวท์ (Alaskan Malamute)
แข็งแรง ใจดี รักสะอาด
ลักษณะทั่วไป
อลาสกัน มาลามิวท์ เป็นสุนัขพันธุ์เก่าแก่ที่สุดพันธุ์หนึ่งที่ใช้สำหรับลากเลื่อนในเขตอาร์คติก มีลักษณะ อกลึก กล้ามเนื้อแข็งแรงมาก เมื่อยืนตรงมีความสง่างามหัวเชิดสูง สายตาแสดงความตื่นตัว อยากรู้อยากเห็น และเป็นมิตร กระโลกศีรษะกว้าง หูตั้งเป็นรูปสามเหลียม กระบอกปากเรียวเล็กน้อย ไม่แหลม ไม่ยาว แต่ก็ไม่สั้น ขนชั้นนอกหยาบหนา ขนชั้นในอ่อนนุ่ม มาลามิวท์มีหลายสี มาร์กกิ้งบนหน้ามีลักษณะเฉพาะ สีบนหัวลักษณะเหมือนสวมหมวก หน้าอาจสีขาวทั้หมดหรือลักษณะเหมือนสวมหน้ากากและ/หรือมีแถบสี หางเป็นพวงพอดีโค้งไปบนหลัง มีกระดูกใหญ่ ขาแข็งแรง เท้าเหยียบมั่นคง อกลึกไหล่มีพลัง มีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมกับการลากเลื่อน การวิ่งย่างก้าวได้มั่นคง สมดุล เหมือนไม่รู้จักเหนื่อย แต่ไม่เหมาะสมกับการลากเลื่อนเพื่อแข่งขันด้านความเร็ว แม้จะแข็งแรงอดทน
ความเป็นมา
อลาสกัน มาลามิวท์ เป็นสุนัขลากเลื่อน (Sled) แถบอาร์ติกที่เก่าแก่ที่สุดพันธุ์หนึ่ง ได้ตั้งชื่อตามชาวเผ่าพื้นเมืองอินนุยท์ (Innuit) ที่มีชื่อว่า มาลามิว (Mahlamuts) ผู้ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่แถบชายฝั่งโค เซบู เซาด์ (Kot - zebue sound) ในทางตะวันตกตอนบนอลาสก้า ระยะเวลาก่อนหน้าที่อลาสก้าจะตกมาอยู่ภายใต้การครอบครองของสหรัฐอเมริกา
ลักษณะนิสัย
อลาสกัน มาลามิวท์ เป็นสุนัขที่มีอุปนิสัยขี้อ้อน เป็นมิตร ซื่อสัตย์ จงรักภักดี รักสันโดษและอาจดื้อบ้างในบางครั้ง โดยพวกเขามีความเป็นตัวของตัวเองสูง จึงอาจไม่ฟังคำสั่งได้ตามแต่กาลโอกาส เว้นเสียแต่ได้รับของรางวัล หรือสิ่งตอบแทนมาล่อใจ พวกเขาเป็นมิตรและมักอารมณ์ดี เมื่อได้อยู่ร่วมกับมนุษย์ ทว่าเจ้าของจำเป็นต้องฝึกให้เข้าสังคมมากพอ เพื่อทำให้พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับสุนัขตัวอื่นโดยปกติสุข
สำหรับคนที่คิดว่าน้องหมาอลาสกัน มาลามิวท์ตัวใหญ่จะต้องดุร้าย ก้าวร้าว เหมาะกับเป็นน้องหมาอารักขา เลี้ยงไว้สำหรับเฝ้าบ้าน ป้องกันขโมย อาจจะต้องคิดใหม่ค่ะ เพราะเห็นพวกเขาตัวใหญ่อย่างนี้ กลับเป็นน้องหมาที่ต้องหารความรัก การดูแลเอาใจใส่สูง เป็นมิตรแม้แต่คนแปลกหน้า ไม่ค่อยเห่าพร่ำเพรื่อ ออกจะเคลื่อนไหวเชื่องช้า ชอบนอนอยู่กับเจ้าของ เอาอกเอาใจเจ้าของ แม้จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูงเช่นเดียวกับไซบีเรียน ฮัสกี้ก็ตาม แต่ทว่าพวกเขาไม่ไฮเปอร์ ทำลายบ้านเรือน ทะลึ่งตึงตัง แสบสันเท่ากับไซบีเรียนฮัสกี้
การดูแล
อลาสกัน มาลามิวท์ เป็นสุนัขที่ต้องได้รับการดูแลขนเป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเขามีขนดก และหนา โดยการแปรงขนให้วันละ 5 นาที ถือว่าเหมาะที่สุด ทั้งนี้ อลาสก้า มาลามิวเพศผู้จะผลัดขน ปีละหนึ่งครั้ง ส่วนในเพศเมียปีละ 2 ครั้ง ทำให้ผู้เลี้ยงอาจประสบปัญหาบ้างในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พวกเขาเป็นสุนัขที่ไม่มีกลิ่นตัว จึงไม่จำเป็นต้องอาบน้ำให้บ่อยจนเกินไป
ด้านการออกกำลังกาย อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นแล้วว่า อลาสกัน มาลามิว เป็นสุนัขที่มี พละกำลังมาก ทำให้เขาต้องการการออกกำลังกายสูง เพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินทิ้งไป ผู้เลี้ยง จำเป็นต้องพาเขาไปออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 60-80นาที โดยอาจเป็นการวิ่ง หรือการละเล่น อื่นใดที่ทำให้เขาได้ใช้พลังงานอย่างเต็มที่
สำหรับเรื่องโภชนาการ ก็เช่นเดียวกับสุนัขพันธุ์อื่น ผู้เลี้ยงควรให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป มากกว่าอาหารปรุงเอง เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและครบถ้วนมากกว่า ทั้งนี้ ในช่วง อายุ 5 เดือนขึ้นไป อลาสก้า มาลามิว จะโตเร็วกว่าสุนัขพันธุ์อื่นๆ ทำให้น้ำหนักตัวอาจเพิ่มอย่างรวดเร็ว จึงอาจมีปัญหาในการรับน้ำหนักอันเนื่องมาจากกระดูกที่โตช้ากว่านั่นเอง
ผู้เลี้ยงที่เหมาะสม
เหมาะสำหรับผู้เลี้ยงที่กระฉับกระเฉงและมีเวลาว่างมากพอที่จะพาพวกเขาไปปลดปล่อยพลังงาน ที่มีอยู่อย่างล้นเหลือด้วยการพาไปออกกำลังกาย ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว อลาสกัน มาลามิวท์ตัวใหญ๋มากๆ ถ้าไม่ระมัดระวังเป็นอย่างดีอาจจะทำให้มีน้ำหนักเกินได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความสะอาดขน ควรแปรงขนเป็นประจำทุกวัน เพื่อจัดการขนที่ร่วง ระมัดระวังผิวที่เปราะบาง แพ้ และแห้งง่าย หากขนเปียกน้ำ หรืออาบน้ำให้แก่พวกเขา ต้องเป่าไม่แห้ง เนื่องจากขนที่หนาอาจทำให้เกิดการอับชื้นที่ผิวหนัง ทำให้เป็นเชื้อรา หรือเกิดการอักเสบที่ผิวหนังได้
ข้อควรจำ
อลาสกัน มาลามิวท์มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคสะโพกเคลื่อนได้เช่นเดียวกับไซบีเรียน ฮัสกี้ ควรพาพวกเขาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป หากเลี้ยงในประเทศเขตร้อนควรระวังอาการฮีตสโตรกที่จะเกิดขึ้นระหว่าการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังอาจเสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง และ กระเพาะบิด ควรให้รับประทานอาหารแต่พอดี
วิดีโอ ของ สุนัข อลาสกัน มาลามิวท์
มาตรฐานสายพันธุ์
ขนาด เพศผู้สูง 25 นิ้ว หนัก 85 ปอนด์ เพศเมียสูง 23 นิ้ว หนัก 25 ปอนด์
ศรีษะ ควรมีความกว้างอยู่ระหว่างหูทั้งสองข้างแล้วค่อย ๆ แคบลงทีละน้อยจนถึงดวงตา ควรมีสันนูนขึ้นเล็กน้อยระหว่างดวงตา เส้นบนสุดของกะโหลกศีรษะและเส้นขอบบนสุดของจมูกเป็นเส้นหักเล็กน้อยลาดลงมา
ฟัน ขากรรไกรบนและล่างกว้างและมีฟันใหญ่ ฟันหน้าสบกันแน่น ขากรรไกรบนและล่างไม่ยื่น
ปาก ริมฝีปากปิดสนิท
ตา สีน้ำตาล ยาวรีคล้ายผลอัลมอนด์ ตาสีดำจะเป็นที่นิยม
หู ควรมีขนาดปานกลาง แต่จะเล็กเมื่อเทียบกับศีรษะ ส่วนครึ่งบนของหูเป็นรูปสามเหลี่ยม กลมเล็กน้อยที่ตรงปลาย เมื่อตั้งตรงหูจะชี้ไปข้างหน้าเล็กน้อย แต่เมื่อสุนัขทำงานบางครั้งหูจะม้วน หูที่อยู่ในตำแหน่งสูงเป็นข้อบกพร่อง
จมูก ควรมีขนาดใหญ่และล่ำสัน ค่อย ๆ ลดความกว้างและลึกลงทีละน้อยจากจุดต่อกับกะโหลกศีรษะมายังปลายจมูก ปลายจมูกเป็นสีดำ
คอ ควรแข็งแรงและโค้งพอประมาณ
อก หน้าอกควรแข็งแรงและกว้าง มีโครงสร้างกระชับแต่ไม่สั้น หลังควรเป็นแนวเส้นตรงค่อย ๆ ลาดเอียงไปทางสะโพก บั้นเอวควรมีกล้ามเนื้อและไม่สั้นเกินไป เพราะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวที่ง่ายดายและเป็นจังหวะ
ลำตัว ลำตัวใหญ่ หนา เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ความกว้างของลำตัวและส่วนสูงใกล้เคียงกันกำลังดี
เอว -
ขาหน้า กระดูกขาหน้าใหญ่และมีมัดกล้ามเนื้อเป็นแนวเส้นตรงไปจนถึงข้อเท้าซึ่งควรสั้นและแข็งแรงและเกือบอยู่ในแนวดิ่ง เมื่อมองจากด้านข้างเท้าควรใหญ่และแน่น นิ้วเท้าเรียงชิดติดกันและงุ้มสวยงามอุ้งเท้าหนาและแข็งแรงเล็บเท้าสั้น ควรมีการป้องกันการเจริญเติบโตของขนระหว่างนิ้วเท้า
ขาหลัง ขาหลังต้องกว้างและมีพละกำลัง มีมัดกล้ามเนื้อไปจนถึงต้นขาเข่าโค้งงอพอสมควร ข้อขาหลังกว้างและแข็งแรง โค้งงอพอประมาณและทอดลงได้รูปสวยงาม เมื่อมองจากด้านหลังกระดูกควรมีลักษณะโค้ง แต่ยืนและเคลื่อนที่อย่างแท้จริงในแนวเส้นตรงโดยการขับเคลื่อนของขาหน้า และไม่แนบชิดหรือกว้างเกินไป
หาง มีขนาดพอเหมาะ มีขนปกคลุมดีและชูอยู่เหนือหลังเมื่อยังไม่ทำงาน ไม่มีลักษณะม้วนงอแน่น ขนที่หางต้องไม่สั้นมีลักษณะเหมือนสุนัขจิ้งจอกเป็นพุ่มกวัดแกว่งไปมา
ขน ควรมีขนปกป้องลำตัวหยาบ หนา ไม่ยาวและไม่อ่อนนุ่ม ขนชั้นในดก หนาแน่น มีความยาว 1-2 นิ้ว มีน้ำมันหล่อและขนละเอียด ขนที่หยาบจะอยู่ด้านนอก มีแผงขนหนารอบคอ โดยทั่วไปขนค่อนข้างสั้น ขนจะยาวมากขึ้นบริเวณรอบบ่าและคอไล่ลงมาที่หลังและเหนือบริเวณส่วนท้าย รวมทั้งส่วนก้นจนถึงพวงหาง พันธุ์มาลามูทตามปกติจะมีขนสั้นกว่าและหนาแน่นน้อยกว่าเมื่อผลัดขนในช่วงระหว่างฤดูร้อน
สีขน ตามปกติจะมีตั้งแต่สีเทาจาง สีเข้มข้นจนอยู่ในระดับดำปานกลางจนถึงสีดำ มักจะสีขาวอยู่ใต้ลำตัวส่วนของเท้า ขาและส่วนของหน้ากาก ควรเป็นลักษณะคล้ายหมวกแก๊ป และเหมือนหน้ากากอยู่บนใบหน้า สีขาวสดที่หน้ากากหรือรอบคอหรือจุดบนด้านหลังของคอเป็นสิ่งที่สวยงามและยอมรับได้ แต่จุดหรือแถบสีที่กระจายอยู่ทั่วตัวไม่เป็นที่นิยม เราควรแยกระหว่างสุนัขที่มีปกคลุมกับสุนัขที่มีแต้มสี สีเดียวทั้งตัวที่ยอมรับคือสีขาว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น